รีวิว #DEK61 : เมื่อผมต้องสู้กับ #TCAS

By DoTheEarth - 00:36




สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่การเปิดบล็อก ‘Do The Earth’ อย่างเป็นทางการ~!

สำหรับบทความนี้จะพูดถึงเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เอิร์ธได้พบเจอในระบบ TCAS (Thai University Central Admission System) ประจำปี 2561 (#DEK61 ประเดิมปีแรกเลยจ้า)ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตรียมตัว หรือความรู้สึกในรอบต่าง ๆ ก็เลยอยากนำมาแบ่งปันให้กับผู้อ่าน (ทั้งที่เป็นผู้ปกครอง น้อง ๆ ที่กำลังเผชิญกับระบบนี้ และผู้ที่เคยเผชิญระบบนี้มาด้วยกัน) ครับ

หมายเหตุ: หากมีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัย ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
  
 

เป้าหมาย

        
หากพูดถึงการวางเป้าหมายของเอิร์ธในเรื่องของการเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว มี 4 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ครับ

1.มหาวิทยาลัย

เอิร์ธเป็นคนที่ยึดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในดวงใจมาตลอดในช่วงชีวิตมัธยม เพราะว่าจุฬาฯ เป็นชื่อที่เอิร์ธได้ยินบ่อยที่สุดและคิดว่าจบจากที่นี่ หางานได้แน่นอน (หลักสูตรดี) แต่จริง ๆ ขอแค่อยู่ในกรุงเทพฯ เดินทางไปกลับบ้าน (สระบุรี)ในช่วงวันหยุดได้ค่อนข้างสะดวก ก็โอเคแล้วครับเพราะเราเป็นคนค่อนข้างติดบ้าน

ข้อสรุป : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ

2.คณะ

เอิร์ธเรียนวิทยาศาสตร์ ศิลปะและพลศึกษาไม่เก่งเลย ไม่ชอบเนื้อหาที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์และสังคมศึกษา ดังนั้นจะเหลือภาษาศาสตร์กับเทคโนโลยีสารสนเทศ เราก็เลยจะมุ่งไปสายสื่อสาร อาทิ อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ครุศาสตร์ นิเทศศาสตร์

ข้อสรุป : อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ครุศาสตร์ นิเทศศาสตร์        

3.สาขา

หากเกี่ยวกับภาษา เอิร์ธอยากเรียนภาษาอังกฤษที่ทำได้ค่อนข้างโอเค ภาษาไทยที่อาจารย์ให้ไปแข่งบ่อยครั้ง และภาษาเกาหลีที่อยู่ในความสนใจพอดี ส่วนพวกเกี่ยวกับสื่อ เอิร์ธอยากเรียนกำกับการแสดงทั้งละครและภาพยนตร์ครับ

ข้อสรุป : ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาเกาหลี และกำกับการแสดง

4.อาชีพในอนาคต

สามประเด็นหลักก่อนหน้าที่กล่าวไปจะส่งผลมาถึงขอบเขตของประเด็นนี้ จริง ๆ ถือว่าได้ว่าเอิร์ธไม่มีอาชีพในอนาคตที่คาดหวังว่าจะจบไปแล้วจะไปประกอบอย่างแน่ชัด เนื่องด้วยเราเป็นคนที่ช่างฝัน มีความฝันเยอะมาก และแปรเปลี่ยนไปในช่วงเวลาต่าง ๆ อย่างตอนประถมก็เคยคิดว่าอยากเป็นหมอ แต่เรากลัวเลือด อยากเป็นทหาร แต่โตมาด้วยประสบการณ์การเป็นลูกของทหารก็ได้ข้อสรุปว่าตัดทิ้งไปได้เลย อยากเป็นนักร้องเพราะเราชอบในเสียงเพลง แต่เราดันไม่กล้าแสดงออก จนมาจบสุดท้ายที่อยากเป็นครูครับ อยากแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ด้วยวิธีการสอนของเราซึ่งน่าจะเป็นมิตรและเข้าใจนักเรียนได้ดีที่สุดเพราะเราเจอครูมาหลากหลายแบบ แบบไหนที่เรารู้ว่าเราและเพื่อนไม่ชอบก็จะไม่นำมาใช้กับนักเรียนของเรา จนกระทั่งมาตอนมัธยม ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นวัยที่มีอะไรผ่านมาในชีวิตเยอะมาก เราอยากเป็นนักเขียนเพราะช่วงนั้นนิยายแจ่มใสมาแรงมาก เราได้ลองเข้าไปอยู่ในโลกของนิยายแจ่มใสจากการที่เพื่อนแนะนำก็ได้พบว่าเป็นงานเขียนที่สนุก เข้าใจง่าย อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน แต่พอเราได้ลองพยายามแต่งนิยาย มันยังตัน ยังไม่ถูกใจเราก็เลยต้องฝึกฝนต่อไป เราอยากเป็นผู้กำกับละคร เนื่องจากช่วงนั้นละครไทยโดนโจมตีว่า พล็อตเรื่องซ้ำซาก จำเจ เน้นแต่เรื่องความซับซ้อนของความรัก ไม่เน้นเรื่องอาชีพ เอิร์ธก็เห็นด้วย แต่เราอยากเขียนบทละครเองด้วย ถ้าได้มีโอกาสกำกับละครก็อยากลองเปลี่ยนแปลงละครไทยดูครับ อีกอาชีพหนึ่งที่อยากเป็น คือ นักการทูต เพราะเราอยากไปทำงานที่ต่างประเทศและทำงานที่สถานทูตไทย แต่ความเป็นไปได้สำหรับเอิร์ธยังมีน้อยครับก็เลยต้องเก็บไว้พิจารณา

เหนือสิ่งที่อยากเป็นที่กล่าวไปในข้างต้น อาชีพที่เอิร์ธอยากทำมากที่สุด คือ เจ้าของค่ายเพลงและโปรดิวเซอร์ครับ แต่ถ้าเราจะไปถึงจุดนั้นก็ต้องมีทุนชีวิตพอสมควร เอิร์ธก็เลยขอเก็บไว้ในใจและประกอบอาชีพที่สามารถทำได้ไปก่อน

ข้อสรุป : อาชีพในฝัน คือ คุณครู นักเขียน ผู้กำกับละคร นักการทูต เจ้าของค่ายเพลงและโปรดิวเซอร์


การเตรียมตัวสู้กับระบบ TCAS


ตอนรู้ว่ารุ่นตัวเองโดนเปลี่ยนระบบการคัดเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยน่าจะเป็นก่อนหน้าที่พี่ #Dek60 จะสู้กับระบบ Admission นะครับ ถ้าถามว่ารู้สึกยังไงกับการเป็นรุ่นแรกของระบบใหม่ คิดว่าหลาย ๆ คนน่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน

อีกแล้วหรอวะ

เพราะว่ารุ่น #Dek61 เจออะไรกันมาเยอะมากจริง ๆ แทนที่เราจะได้สู้ในสนามรบเดิมกับรุ่นพี่เพราะเราพอรู้แนวทางสมควรว่าต้องสู้ยังไง กลับต้องไปสู้กับระบบใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยสู้มาก่อน จะรอดไหม

แต่ก็โชคดีที่ยังมีเพื่อน ๆ ในกลุ่มพากันเกาะกลุ่มไปทั้ง #DekDFair เพื่อดู #DekDOnstage หรือสอบ #DekDPreAd  และที่สำคัญ มีเรื่องอะไรก็คอย Update ให้กันตลอดเวลา ณ จุด ๆ นี้ต้องยกเครดิตให้

การเตรียมความพร้อมในด้านเนื้อหาของสนามสอบต่าง ๆ นั้น เนื่องจากความขี้เกียจเล็ก ๆ รวมกับการเรียนปกติในโรงเรียนก็เหนื่อยมากพออยู่แล้ว ทำให้เอิร์ธไม่ได้ไปติวกับสถาบันไหนเลย ดังนั้น การตักตวงความรู้ที่โรงเรียนต้องทำให้ได้มากที่สุด ถือเป็นการติวไปในตัว 

พอเวลาเดินถึงช่วงสุดท้ายประมาณ 3 เดือนก่อนสอบ ทุกอย่างจะดูวุ่นวายมาก ๆ ทั้งการที่เราสอบไม่ติดในรอบแรก และเพื่อนก็เริ่มมีที่เรียนกันแล้ว ทำให้เรารู้สึกกดดัน เอิร์ธก็เลยต้องหันไปพึ่งการจัดตารางอ่านหนังสือบวกกับการติวในโครงการ #TCASboostUP ซึ่งได้สมัครไว้ก่อนหน้า (คอร์สละ 1 บาท กระจายโอกาสสู่เด็กไทย) หลังเลิกเรียน

แน่นอนว่าวิธีการดังกล่าวไม่สมควรทำตามในเรื่องของระยะเวลาการเตรียม แต่ก็มีผลที่ทำให้คะแนนเราดีขึ้นได้จริงนะครับ

เริ่มช้ายังดีกว่าไม่เริ่มเลย :D

สำหรับสนามสอบต่าง ๆ นั้น เอิร์ธว่าความเข้มข้นและทิศทางของเนื้อหามันจะค่อนข้างต่างกันขึ้นอยู่กับคนออกข้อสอบโดยตรงว่าจะลึกหนาขนาดไหน เอาไปประยุกต์หรือบูรณาการกับอะไรบ้าง แต่ขอบเขตมันก็จะอยู่ในเรื่องที่เคยได้เรียนไป รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

Gat Pat

ปีของ #Dek61 จะถูกจำกัดเหลือเพียงแค่รอบเดียวต่อปีการศึกษา เอิร์ธแอบคิดว่าควรจัดสองครั้งเหมือนเดิมเพราะถ้าเราไม่เคยไปเตรียมตัวในสนามสอบจำลองของ #DekDPreAd เราจะรู้แนวทางการเตรียมตัวในสนามสอบนี้ สนามสอบนี้เป็นสนามสอบที่เป็นการทดสอบทางวิชาชีพ โดยตัว Gat จะเป็นการทดสอบทักษะพื้นฐานในการทำงาน คือ การอ่านแล้วตีความอย่างตัวเชื่อมโยง และภาษาอังกฤษ ซึ่งจำเป็นในปัจจุบัน ส่วนตัว Pat จะเป็นตัวเพิ่มเติมที่จะมาวัดว่าเรามีความเข้าใจและความรู้ขนาดไหนในการที่จะเข้าไปศึกษาต่อที่คณะเกี่ยวกับวิชาชีพนั้นและนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตได้หรือไม่ ในส่วนของเนื้อหาข้อสอบ เอิร์ธขอไม่กล่าวถึงนะครับ เพราะค่อนข้างเปลี่ยนไปในทุกปีและน้อง ๆ สามารถหาแนวขอบเขตมาเตรียมตัวได้อยู่แล้ว เอิร์ธขอบอกว่าสนามสอบนี้ค่อนข้างเป็นคะแนนหลักเพราะมีผลต่อคะแนนเยอะมาก ๆ ในรอบที่ 3 – 5 ยังไงก็ขอให้วางแผนและเตรียมตัวกันดี ๆ นะครับ

O – Net

ในส่วนของ O – Net นั้น สำหรับเอิร์ธคิดว่ามันเป็นสนามสอบที่เหมือนเราสอบปลายภาคของมัธยมศึกษาตอนปลายเลย เป็นการวัดความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ได้เรียนมาทั้งหมด คิดว่าถ้าเป็นคนที่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนและได้มีโอกาสกลับไปทบทวนทำความเข้าใจในเนื้อหาเก่าตอนช่วงม.4 - .5 (ข้อสอบในสนามสอบส่วนใหญ่ชอบออกเนื้อหาตอนช่วงนั้น) ก็จะผ่านสนามสอบนี้ไปได้สบายมาก ๆ  (เหรอ!?!)

9 วิชาสามัญ

สนามสอบ 9 วิชาสามัญนั้น สำหรับเอิร์ธคือการวัดความรู้กว้างและความรู้ลึกของเนื้อหาต่าง ๆ ในวิชานั้น ๆ คือเป็นขั้นกว่าของเนื้อหา O – Net ระดับความยากก็จะเพิ่มขึ้นพอสมควร ถ้าเลือกแล้วว่าจะสอบวิชาไหน ก็ต้องเตรียมตัวสำหรับสนามสอบนี้พอสมควรเพราะส่วนใหญ่จะมีผลต่อคะแนนในรอบที่ 3 ครับ  

นอกจากสนามสอบทั้งสามที่กล่าวไปข้างต้น ก็ยังมีพวกสนามสอบเกี่ยวกับการทดสอบภาษาต่าง ๆ หรือวิชาเฉพาะที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น ควรศึกษาและจัดการวางแผนกันให้ดีนะครับ บางสนามสอบมีจัดมาก่อนหน้าที่จะสมัครแล้ว อาจทำให้ไม่มีสิทธิยื่นเข้าคัดเลือกได้


รอบ 1 Portfolio : มั่นใจแค่ไหน ไม่เตรียมตัวก็พลาด


ความพึงพอใจ : 3.5/5
ระดับความยาก : 4.5/5 (ขึ้นอยู่กับความสามารถอันโดดเด่นและทักษะการตอบคำถามสัมภาษณ์)
ปัญหาที่พบ : ค่าใช้จ่ายมากมายที่มากับ Portfolio ที่แย่งชิงความโดดเด่น

“เอิร์ธเก่งอยู่แล้ว ทำได้แน่นอน”

“พอร์ตมึงหนา ผลงานเยอะขนาดนี้ ถ้าเขาไม่รับมึงก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว”
        
ต้องบอกว่าเป็นความโชคดีของเอิร์ธที่มีความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การทำ Portfolio  เราจึงสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้เต็มที่ แก้งานได้ตามที่เราชอบ และเราภูมิใจที่ช่วยพ่อแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้บ้าง คำพูดดังกล่าวมันเลยทำให้เอิร์ธมั่นใจมากครับว่ารอบนี้เอิร์ธจะได้ที่เรียนมาพิจารณาดูบ้าง แต่ต่อให้ชายฝั่งจะแข็งแกร่งยังไง คลื่นที่ซัดมาเรื่อย ๆ ย่อมทำลายได้เหมือนกัน

คลื่นลูกแรกที่เอิร์ธต้องเจอคือการประกาศคุณสมบัติของผู้จะยื่นแฟ้มสะสมผลงานได้ของจุฬาฯ ไม่มีเกณฑ์ไหนที่เอิร์ธจะสมัครได้ทันทีเลย และยังมีเกณฑ์เดียวที่เอิร์ธสามารถ สร้างให้ทันกับการสมัครได้ คือ ‘CU-TEP’

ต้องบอกว่าเอิร์ธพลาดจริง ๆ ที่ไม่เคยศึกษามาก่อนว่า ถ้าเข้าคณะสายภาษา จำเป็นต้องมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษไว้ แต่ก็ยังดีที่มีโอกาสสมัครและสอบได้ทันถึง 2 รอบ ซึ่งทั้งสองรอบ คะแนนก็ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด

ดังนั้น รอบพอร์ตของเอิร์ธกับจุฬาฯ เท่ากับล้มเหลว

เราก็เสียความมั่นใจไปสักพักหนึ่งเลยจนมีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาอยากเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒมาชวนเพื่อนในกลุ่มสมัครรอบหนึ่ง เอิร์ธก็เลยตัดสินใจค้นหาว่ามีอะไรน่าสนใจบ้างจนมาเจอกับวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม

เอาล่ะ ได้ใช้ Portfolio ที่ทำส่งครูแล้วโว้ย

เอิร์ธก็เลยตัดสินใจสมัครโครงการเด็กดีมีที่เรียน วิชาเอกการแสดงและกำกับการแสดงภาพยนตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒไปและพบกับความล้มเหลวเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากทั้งโครงการ วิชาเอก วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแข่งขันสูงมาก คนเก่ง ๆ ก็เยอะเป็นธรรมดาครับ

ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เปิดให้สมัครเช่นกัน ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยที่ใกล้บ้าน เอิร์ธก็เลยชวนเพื่อนลองสมัครยื่นแฟ้มผลงานกันดู โดยเอิร์ธเลือกสมัครสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ครับ เนื่องจากช่วงนั้นอินกับนักการทูตและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็โดดเด่นด้านนี้พอสมควร แต่ด้วยความที่สับสนกับคุณสมบัติคิดว่าต้องมีผลคะแนน TU-GET ด้วย (จริง ๆ ไม่ต้องใช้) ก็พาเพื่อนสมัครสอบด้วย ผลก็ออกมาตามที่ทุกคนคาดเดาได้ คือ นอกจากคะแนน TU-GET จะไม่ดีแล้ว ผลการยื่นก็ไม่ผ่านด้วยเหมือนกันครับ

รอบ 2 โควตา : โอกาสมา จงคว้าไว้


ความพึงพอใจ : 4.5/5
ระดับความยาก : 3/5 (ทักษะการไขว่คว้าโอกาส + ทักษะการตอบคำถามสัมภาษณ์ที่)
ปัญหาที่พบ : ค่าสมัครที่แตกต่างและช่วงเวลาที่หนักหนาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
        
รอบนี้เป็นรอบที่ไม่คิดว่าจะได้ยื่นครับ เพราะดูโครงการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว คุณสมบัติของเอิร์ธไม่ผ่าน อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ต้องสอบสนามสอบต่าง ๆ ค่อนข้างหนักหน่วงในความรู้สึก รวมถึงความรู้สึกเข็ดจากรอบที่แล้วด้วยก็เลยตั้งใจเรียนทำเกรดเทอมสุดท้ายและคะแนนสนามสอบต่าง ๆ ให้ออกมาดีดีกว่า แต่แล้วก็พบว่าโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น สามารถรอรับผล CU-TEP ได้หลังจากสมัคร เอิร์ธก็เลยตัดสินใจสมัครอีกรอบ แต่คะแนนก็ไม่ได้ดีขึ้นจากเดิมเท่าไหร่ คุณสมบัติจึงไม่ผ่านครับ (ร้องไห้หนักมาก)
        
เนื่องจากรอบนี้เราเสียเงินให้กับระบบนี้ไปพอสมควรแล้ว (มีสรุปรวมรายจ่ายคร่าว ๆ ของเอิร์ธตอนท้ายครับ) รวมกับความช้ำใจของเราที่เกิดจากความผิดพลาดทำให้เอิร์ธต้องมานั่งคิด คำนวณ และวางแผนอย่างรอบคอบและเกิดผลดีที่สุด เพื่อที่จะเป็นการประหยัดเงินช่วยพ่อแม่และรักษาความรู้สึกของตัวเองไปพร้อมกันด้วย
        
หมายเหตุ : จริง ๆ รอบนี้เอิร์ธอยากยื่นการแสดงและกำกับการแสดง สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ แต่เอิร์ธพลาดไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด คิดว่ามีอยู่ในอันดับรอบที่ 4 ด้วยครับ


รอบ 3 รับร่วม : ติดได้หลายที่ มีปัญหาหลายจุด

        
ความพึงพอใจ : 1/5
ระดับความยาก : 4.5/5 (ทำคะแนนสอบสนามสอบต่าง ๆ ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง)
ปัญหาที่พบ : ติดได้หลายอันดับ ไร้ตัวสำรอง และช่วงระยะเวลาที่รู้สึกนานเกินไปจนเริ่มบั่นทอนจิตใจ
        
ระยะห่างจากรอบที่สองสู่รอบที่สามมันยาวนานมาก ๆ เลยครับ นานจนสงสัยว่าตัวเองกำลังจะขึ้นมหาวิทยาลัยแล้วจริง ๆ หรือเปล่า แต่เอิร์ธก็ใช้เวลาทุก ๆ วันไปกับการวางแผนอันดับรอบที่สาม และหางานพิเศษทำไปด้วย ได้แก่ ห้างดอกบัวที่ไม่ยอมติดต่อกลับมา ราชาแซนวิชกลมที่ตกสัมภาษณ์ และเจ็ดสิบเอ็ดแถวบ้านที่อายุไม่ถึง
        
เฮ้อ~ มหาวิทยาลัยก็นกมาสองรอบแล้ว งานพิเศษก็กลายเป็นนกไปอีก แต่ไม่เป็นไรครับ เรื่องเข้ามหาวิทยาลัยต้องมาก่อนอยู่แล้ว โดยเอิร์ธเรียงลำดับดังนี้

อันดับ 1 เลือกสอบวิชาภาษาเกาหลี พื้นฐานศิลปศาสตร์ สาขาวิชาอักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        
เนื่องจากปีการศึกษา 2561 เป็นปีแรกที่จะเปิดสาขาวิชาภาษาเกาหลีเป็นวิชาเอก คะแนน Pat เกาหลีของเอิร์ธออกมาก็ไม่ได้แย่ซะเท่าไหร่ และเอิร์ธก็มีความสนใจในภาษานี้อยู่แล้วจึงลองจัดไว้ในอันดับหนึ่งครับ
        
อันดับ 2  เลือกสอบวิชาภาษาไทย สาขาวิชามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                 
ตามที่บอกไปข้างต้นครับ เอิร์ธมีความฝันอย่างหนึ่ง คือ อยากเป็นครู รวมกับคะแนนวิชาภาษาไทยในสนามสอบ 9 วิชาสามัญก็ออกมาดีกว่าวิชาสังคม เอิร์ธจึงไม่รอช้าตัดสินใจไว้อันดับที่สองทันทีเลยครับ
       
อันดับ 3 วิชาเอกการออกแบบเพื่องานภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล สาขาวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ
                 
ผู้กำกับละครก็เป็นความฝันอีกหนึ่งอย่าง รวมทั้งเอิร์ธลองค้นหาข้อมูลประกอบเกี่ยวกับคณะนี้มีความสนใจไม่แพ้กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอิร์ธจึงอยากขอทุ่มเทให้กับความฝันที่อยากเป็นผู้กำกับการละครกับการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นครั้งสุดท้าย
       
อันดับ 4 วิชาเอกภาษาเกาหลี สาขาวิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ
                 
ภาษาเกาหลีก็เป็นที่นึกถึงของมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒอีกหนึ่งอย่าง นอกจากจะลองยื่นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เอิร์ธคิดว่าการเรียนภาษาเกาหลีก็ดีไม่แพ้กัน
        
และแล้วก็มาถึงวันประกาศผล เอิร์ธจำได้ว่าคนในกลุ่มเพื่อนสนิท มีคนลุ้นอยู่ประมาณ 5 คน เพราะอีก 4 คนติดและยืนยันสิทธิในรอบก่อนหน้าไปแล้ว ผลที่ออกมาก็คือ เอิร์ธไม่ติดอันดับไหนเลยครับ (หัวใจแหลกสลาย)
        
จำความรู้สึกตอนนั้นได้ว่า เราไม่เข้าใจและไม่อยากเข้าใจอะไรเลย ทำไมไม่ติด ทั้ง ๆ ที่เราควรจะติดสักอันดับ เราทักไปหาพ่อและแม่ ขอโทษที่ทำให้ไม่ได้ พ่อแม่ก็แนะนำมาว่าไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนไหม แต่พอมานึกถึงสิ่งที่เคยคิดเกี่ยวกับความน่าจะเป็นของรอบนี้แล้วก็ไม่แปลกใจ เป็นปัญหาของระบบเองที่คนหนึ่งคนมีสิทธิติดได้หลายที่ (ไม่ใช่ความผิดของผู้สมัคร เพราะระบบให้สิทธิเขา) ทั้งที่มีการจัดอันดับ และไม่มีการประกาศรายชื่อตัวสำรอง กลายเป็นว่าจำนวนคนที่ติดมีเยอะนะครับ แต่พออินเวอร์สออกมาแล้ว มีแต่คนที่เป็นหัวคะแนนตามเกณฑ์ของรอบนั้นที่ได้รับการคัดเลือก คนที่มีคะแนนอยู่กลาง ๆ เป็นต้นไปก็หมดหวัง จึงไม่แปลกใจที่จะกระแสไม่พอใจบนสังคมออนไลน์มากมายเกี่ยวกับรอบนั้น และสำหรับเอิร์ธ การแก้และการจัดการปัญหาก็ไม่ได้โอเคต่อความรู้สึกของ #Dek61 เท่าไหร่ เอิร์ธก็เลยต้องขอสู้ต่อรอบที่ 4

รอบ 4 Admission : คนรอมันท้อ แต่ก็คุ้มค่า

        
ความพึงพอใจ : 2/5
ระดับความยาก : 3/5 (ทักษะการจัดอันดับที่ดี + คะแนนจากสนามสอบดี + เกรดที่ไม่ขี้เหร่)
ปัญหาที่พบ : ช่วงเวลาแห่งการรออันแสนนานเกินไป จิตใจของเด็กเริ่มมีปัญหาเข้ามาแทรกซึม
        
รอบนี้คือรอบเด็ดขาดและรอบสุดท้ายของเราแล้ว
        
เอิร์ธตั้งเป้าหมายไว้แบบนั้นสำหรับรอบนี้ รวมถึงพอเปลี่ยนเกณฑ์รอบแล้ว คะแนนของเอิร์ธเพิ่มขึ้นมาพอสมควร แต่ก็ประหม่าไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้าเราเพิ่ม คนอื่น ๆ ก็มีสิทธิเพิ่ม การจัดอันดับจึงต้องมีความรอบคอบ มีเหตุผลมากกว่าเก่า และมีความกว้างของข้อมูลเข้ามาประกอบการตัดสินใจมากขึ้น
        
ในระหว่างที่หมดหวังกับงานพิเศษ เอิร์ธก็หาข้อมูล ลงไปลึกมากกว่าเก่า ไปดูสัมภาษณ์ รีวิวของรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ได้ดูเฉพาะเจาะจงแค่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒแล้ว การจัดอันดับในรอบที่ 4 ของเอิร์ธจึงออกมาเป็นดังนี้

อันดับ 1 รูปแบบที่ 1 สาขาวิชามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        
เอิร์ธตัดสินใจว่า รอบนี้เอิร์ธขอต้องให้พื้นที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแค่เพียงที่เดียว ต้องกระจายโอกาสไปมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่น่าสนใจตามที่ได้ไปศึกษาบ้าง อีกทั้งแนวโน้มของคณะอักษรศาสตร์ คะแนนจะสูงมาก เอิร์ธจึงขอยืนหยัดที่ความฝันของการเป็นครู แม้ว่าอันดับนี้ จำนวนรับจะน้อยก็ตาม
       
อันดับ 2  สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
                 
การศึกษาค้นคว้าข้อมูลของรอบนี้ ต้องบอกเลยว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมาแรงมาก ๆ ขอสารภาพตามตรง เอิร์ธเพิ่งรู้ว่ามหิดลก็มีคณะสายศิลป์ แถมยังอยู่ในสายที่เราสนใจ อีกทั้งการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับมหิดลกินขาดมหาวิทยาลัยอื่น ๆ มาก ๆ เพราะมีช่องที่ทำ Content ของมหาวิทยาลัยมากมายอย่าง WeMahidol หลังจากที่ยื่นไปแล้ว ดูจนตาเปียกตาแฉะ จนเก็บเอาไปฝันว่าได้เรียนที่นี่
                 
อันดับนี้เป็นอันดับที่เอิร์ธคาดหวังสูงว่าจะต้องติดแน่นอน
       
อันดับ 3 เลือกสอบวิชาภาษาเกาหลี สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
                 
แนวโน้มของคะแนนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒจะสูงขึ้น เอิร์ธเลยตัดสินใจว่า ถ้าหากจะได้เรียนภาษาเกาหลี ขอไปเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพาล่ะกัน เนื่องจากสถาบันนี้ก็มีความโดดเด่นในเรื่องนี้และสถานที่ตั้ง แม้จะไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่ทะเลก็ถูกใจเอิร์ธมาก
       
อันดับ 4 สาขาวิชาภาษาไทย (ภาคปกติ) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
                 
อันดับนี้เป็นอันดับที่เป็น Safe zone ของเอิร์ธ มั่นใจว่าต้องติดแน่ ๆ ถ้าหลุดจากอันดับต้น ๆ ด้วยความที่เพื่อนผู้สนิทคนหนึ่งซึ่งติดรอบก่อนหน้าไปแล้วมาอ้อนว่ามาอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนด้วยกันเถอะ อีกทั้งที่ตั้งก็มีตรงตามที่ต้องการ หลักสูตรก็มีความน่าสนใจ เอิร์ธจึงตัดสินใจได้อย่างไม่ลังเล
        
ต้องบอกก่อนว่า น้อง ๆ คนไหนที่จะรอถึงรอบที่ 4 พี่แนะนำว่าให้หากิจกรรมที่อยากจะทำไว้เยอะ ๆ เพราะรอนาน ๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ อย่าให้นานเกินไป ก่อนอะไรมันอาจจะสาย ท่อนหลังนี่ไม่เกี่ยว อยากร้องเพลงเฉย ๆ ครับ ฮ่า ๆ
        
ที่กล่าวไปว่าให้หากิจกรรมที่อยากจะทำไว้ เพราะกว่าจะถึงรอบนี้ น้องจบมัธยมฯ มาระยะหนึ่ง มันจะว่างมาก ถ้าอยากได้เงินค่าขนม ก็ไปทำงานพิเศษครับ (แม้พี่จะนก แต่ห้างดอกบัวติดต่อมาตอนที่พี่กำลังจะย้ายของเข้าหอได้อาทิตย์หนึ่ง จะร้องไห้ แงงถ้าอยากได้ความบันเทิง ก็นัดเพื่อนไปเที่ยวที่ที่อยากไปก่อนจะต้องแยกย้ายกันไปตามเส้นทางความฝัน หรือไม่ก็ทำงานอดิเรกก็ได้ครับ
        
สำหรับเอิร์ธ ช่วงที่รอการประกาศผลนั้น เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการดูละคร ดูหนังที่อยากดู เสพสื่อเป็นส่วนใหญ่ จำได้ว่าช่วงก่อนประกาศ ข่าวที่ดัง คือ เด็ก 13 คนติดถ้ำหลวง ตอนนั้นอารมณ์มันดิ่งมากเลยครับ แล้วก็มีจัดทริปไปเที่ยวกับเพื่อนบ้าง จริง ๆ ช่วงที่รอประกาศผลไม่ค่อยอยากไปเจอเพื่อนเท่าไหร่ เพราะกลัวว่าถ้าเขาคุยเรื่องมหาวิทยาลัยกัน จะดิ่งไปอีกเลยทำได้แค่รอความหวังอย่างเงียบ ๆ และแอบบ่นปนด่าระบบในทวิตเตอร์ไปเพื่อระบาย
        
และแล้ววันที่ประกาศผลก็มาถึง วันนั้นพี่ลาเต้ เด็กดีบอกว่าสีมงคลคือสีแดง รีบเปลี่ยนเสื้อแล้วเพื่อนในกลุ่มก็มานั่งประชุมสายบนแอปพลิเคชันไลน์ช่วยกันลุ้น ความรู้สึกตอนนั้นคือที่ไหนก็ได้ พร้อมหมด ถ้าโชคชะตาเลือกแล้ว แต่ก็ดันตื่นเต้นก่อน ให้เพื่อน ๆ ดูกันไปก่อน เดี๋ยวเอิร์ธดูทีหลัง ก็มีเพื่อนติดบูรพาตามที่หวัง ติดมหาวิทยาลัยสารคาม ซึ่งเจ้าตัวก็ชิงร้องไห้เพราะมันไกล ก็ต้องปลอบใจกันอยู่พักใหญ่ และเอิร์ธ
        
พบกันช่วงหน้าครับ (ตัดจบแบบรายการดูดวงชื่อดัง)
        
ผลลัพธ์ของการรอรอบที่ 4 แอดมิดชันนั้น เอิร์ธติดอันดับที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล!!! (ตอนนี้เรียนจบปีหนึ่งแล้วครับ เดี๋ยวมีรีวิวให้ฟัง ฝากติดตามกันด้วยนะครับ)
        
ความรู้สึกตอนนั้น คือ ดีใจนะ แม้จะแอบเสียดายอันดับอื่น ๆ แต่พอบอกเพื่อนและบอกพ่อกับแม่ ทุกคนต่างยินดีและมีความสุขไปกับเรา
        
….สิ่งที่เราต้องการในชีวิตช่วงนั้นมีแค่นี้จริง ๆ

 

ค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในระบบ TCAS โดยประมาณ


หัวข้อ
รายการ
รายจ่าย
หมายเหตุ
การเตรียมตัว
ติว TCAS Boost up
50
โปรโมชั่นวิชาละ 1 บาท
หนังสือเตรียมสอบสนามสอบต่าง ๆ  (Gat Pat, 9 วิชาสามัญ, CU-TEP และ TU-GET เป็นต้น)
5,500
ประมาณ 15 เล่ม
ค่าหมึกเครื่องปริ้นเตอร์ที่ใช้พิมพ์ตัวอย่าง Portfolio, ใบสมัคร, แบบฝึกหัดข้อสอบ หรือเนื้อหาต่าง ๆ
1,200
3 ครั้ง
ค่าสมัครสอบ
CU-TEP
1,800
3 ครั้ง
TU-GET
500
1 ครั้ง
Gat Pat
560
Gat, Pat1, Pat5 และ Pat7.7
9 วิชาสามัญ
300
ภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ
O-net
-
บังคับสอบ โรงเรียนสมัครให้
รอบที่ 1
พิมพ์รูปเล่ม Portfolio ที่ใช้ยื่นโครงการเด็กดีมีที่เรียน
1,800
2 เล่ม
ค่าสมัครมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ
600
โครงการเด็กดีมีที่เรียน วิชาเอกการแสดงและกำกับการแสดงภาพยนตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม
ค่าสมัครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
200
สาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รอบที่ 2
ค่าสมัครจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย + ค่าสมัครสอบรายวิชาเฉพาะ
1,400
โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์
รอบที่ 3
ค่าสมัครระบบ TCAS รอบ 3
900
4 อันดับ
รอบที่ 4
พิมพ์รูปเล่ม Portfolio ที่ใช้สัมภาษณ์
500
1 เล่ม
ค่าสมัครระบบ Admission รอบ 4
600
4 อันดับ
รวมค่าใช้จ่ายโดยประมาณทั้งสิ้น
15,910
ยังไม่รวมค่าเดินทางไปยังสนามสอบ และค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระให้กับธนาคาร


ยังไงก็ขอขอบคุณทุกคนนะครับที่ติดตามอ่านมาจนถึงตอนนี้ ไม่รู้ว่าสำนวนการเขียนจะอ่านยากหรือเปล่า ยังไงก็ฝากติชม กดไลก์ หรือกดแชร์ไปให้สมาชิกเพื่อน สมาชิกรุ่นน้อง หรือสมาชิกครอบครัวร่วมอ่านกันได้นะครับ

เร็ว ๆ นี้จะมีรีวิวชีวิตการเรียนปีหนึ่งกับสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลด้วยครับ ฝากติดตามด้วยนะครับ
                                                                                         
ด้วยรักและจะร่วมสร้างโลกอย่างสร้างสรรค์
Do the Earth

  • Share:

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น